สเต็มเซลล์(เซลล์ต้นกำเนิด) นิยามสเต็มเซลล์และกฏเกณฑ์ของการเก็บสเต็มเซลล์

213 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สเต็มเซลล์(เซลล์ต้นกำเนิด) นิยามสเต็มเซลล์และกฏเกณฑ์ของการเก็บสเต็มเซลล์

สเต็มเซลล์(เซลล์ต้นกำเนิด): นิยามสเต็มเซลล์และกฏเกณฑ์ของการเก็บสเต็มเซลล์ในธนาคารเซลล์เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ (12/6/62)
.............................................................................................
:: [คำถาม] ::
ข้าพเจ้าต้องการทราบทรรศนะของอิสลามที่มีต่อสเต็มเซลล์และธนาคารเซลล์ โดยธนาคารเซลล์คือสถานที่เก็บรักษาสเต็มเซลล์ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมแลกกับการเก็บรักษาตามระยะเวลา ซึ่งมักยาวนานเป็นปีๆ ทั้งนี้เป็นการเผื่อว่าอาจจะต้องนำไปใช้ในอนาคตข้างหน้า

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
.
1. สเต็มเชลล์ที่อ้างถึงในคำถามนั้น ได้มาจากรกและสายสะดือทารกหลังการคลอด เซลล์ที่นำมาจากสะดือทารกเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคเลือด(โรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดต่างๆ)เช่นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคโลหิตจางนอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาโรคทางระบบประสาทเช่นความพิการทางสมอง โรคอัลไซเมอร์เป็นต้น เซลล์เหล่านี้จะไม่โดนโจมตีจากระบบภูมิคุ้มกันเพราะมันสามารถพัฒนาให้อยู่ในสภาพธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว สะดือจะมีลักษณะคล้ายกับเชือกซึ่งเชื่อมต่อทารกในมดลูกกับรก โดยมีหลอดเลือดแดงสองเส้นและหลอดเลือดดำหนึ่งเส้นหลอดเลือดแดงจะนำเลือดซึ่งมีของเสียจากทารกในครรภ์ไปยังรกและหลอดเลือดดำจะนำออกซิเจนและสารอาหารจากเลือดของมารดาไปยังทารกในครรภ์
(ที่มา อัลเมาสูอะฮ์ อัลอะเราะบิยฺยะฮ์ อัลอะลามิยฺยะฮ์)

2. แหล่งที่มาของสเต็มเซลล์สามแหล่ง
(ก) สเต็มเซลล์ที่นำมาจากตัวอ่อนของมนุษย์อายุ 5วันจนถึงสองสัปดาห์
(ข) สเต็มเซลล์ที่นำมาจากวัยผู้ใหญ่ ซึ่งดึงมาใช้สองรูปแบบ
(1) จากไขกระดูก นั่นคือจากกระดูกตนเองเช่นจากกระดูกเชิงกรานหรือหน้าอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับวิธีนี้ก็คือความเจ็บปวดและต้องใช้ยาสลบอีกทั้งยังใช้เวลาค่อนข้างนาน นอกจากนี้แล้วจำนวนสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากวิธีการนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย
(2) นำมาจากเลือด วิธีการนี้จำเป็นต้องใช้เลือดจำนวนมาก แล้วนำมากรองแต่ท้ายที่สุดแล้วจะได้สเต็มเซลล์ในจำนวนที่เล็กน้อยเท่านั้น
(ค) แหล่งสุดท้ายและเป็นแหล่งที่สำคัญมากคือการนำสเต็มเซลล์จากสายสะดือ ซึ่งมีสเต็มเซลล์อยู่เป็นจำนวนมากซึ่งอาจมีสเต็มเซลล์อยู่ถึง 200 ล้าน
.
3. ดังนั้นจึงมีการคิดค้นและการพัฒนาการเก็บรักษาเซลล์เหล่านี้โดยการเก็บไว้ใน "ธนาคาร" ในดูไบมีธนาคารสเต็มเซลล์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนและในเจดดาห์มีบริษัทเอกชนที่จัดเก็บเซลล์ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการ โดยมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ธนาคารเหล่านี้ได้วางมาตรการเพื่อรับประกันว่าเซลล์จะไม่ถูกดัดแปลง เจ้าของสามารถติดตามและตรวจสอบเซลล์เช่นเดียวกับที่เขาสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารของเขานายแพทย์บางท่านกล่าวว่าเซลล์เหล่านี้อาจเก็บไว้ได้นานถึง 25 ปี และแพทย์บางท่านกล่าวว่าเป็นไปได้ที่จะเก็บไว้ได้นานตลอดชีวิต
.
4. เซลล์เหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับเจ้าของเซลล์ที่ประสบกับโรคเท่านั้น แต่สามารถบริจาคให้กับผู้อื่นได้ด้วย สเต็มเซลล์ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการป่วยและเป็นทางเลือกที่ดีในการผ่าตัดไขสันหลังอักเสบจากมุมมองทางการแพทย์สเต็มเซลล์ถือเป็นทางเลือกในการบริจาคอวัยวะเนื่องจากสามารถสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ทดแทนเซลล์ที่เสียหายของคนไข้ได้
.
สำหรับเจ้าของสเต็มเซลล์นั้นย่อมเป็นคู่ที่สมบูรณ์แบบกับเซลล์ของเขาเพียงคนเดียว ส่วนสมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับเขามีความเป็นไปได้ของการเข้ากันได้จะแตกต่างกันไประหว่าง25% ถึง 40% ทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้ได้ตราบเท่าที่แม่ไม่มีโรคติดต่อเช่นโรคไวรัสตับอักเสบหรือโรคเอดส์ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องทำการทดสอบเลือดของมารดาก่อนที่จะเก็บสเต็มเซลล์
.
จากที่กล่าวมา หากแต่ละคนเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ จึงมีความเห็นตรงกันว่าอนุญาตให้ทำได้
.
5. จากประโยชน์ของสเต็มเซลล์ที่นำมาจากสายสะดือ จึงทำให้บางส่วนของผู้ที่ไม่เกรงกลัวอัลลอฮฺรีบเร่งที่จะได้รับสายสะดือด้วยการเจตนาทำให้เกิดการแท้ง เราเสียใจที่จะกล่าวว่าบางส่วนของพวกเขาเชื่อว่าชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับการทำเช่นนั้นดังนั้นสภานิติศาสตร์อิสลามกล่าวไว้ชัดเจนว่า เป็นสิ่งต้องห้ามในการเจตนาทำแท้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถใช้อวัยวะจากตัวอ่อนรวมทั้งสเต็มเซลล์ด้วยซึ่งมีใจความดังนี้
.
สภานิติศาสตร์อิสลามได้จัดการประชุมครั้งที่หก ที่กรุงเจ็ดดะฮ์ ประเทศสะอุดิอารเบียเมื่อวันที่ 14-20 เมษายน 2533 ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยและอภิปรายในประเด็นนี้ โดยมีหัวข้อว่า การใช้ทารกในครรภ์เป็นแหล่งที่มาของการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งยังเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมของสภานิติศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่ประเทศคูเวตระหว่างวันที่ 23-26 ตุลาคม 2533 อันเป็นความร่วมมือระหว่างสภาแห่งนี้กับองค์กรวิทยาศาสตร์การแพทย์อิสลามซึ่งได้กำหนดแนวทางไว้ดังนี้ :
.
(ก) ไม่อนุญาตให้ใช้ตัวอ่อนในครรภ์เพื่อเป็นแหล่งที่มาของอวัยวะที่ใช้ในการปลูกถ่ายให้กับปัจเจกบุคคล ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็นและจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
(ข) ไม่อนุญาตให้มีการตั้งใจทำแท้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะนำตัวอ่อนในครรภ์มารดามาใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับปัจเจกบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นการทำแท้งควรจำกัดเฉพาะที่เป็นไปตามธรรมชาติ(เช่นการแท้งบุตร)ไม่ใช่ด้วยการตั้งใจทำแท้ง หรือการทำแท้งนั้นสอดคล้องกับเหตุผลอันสมควรตามหลักชะรีอะฮ์อิสลาม
(ค) หากตัวอ่อนหรือทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่ การบำบัดรักษาจะต้องเน้นไปที่การปกป้องชีวิต และจะต้องไม่นำไปใช้เพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ หากทารกนั้นเสียชีวิตแล้วจึงจะอนุญาตให้ใช้ได้โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ (1) ของการประชุมสภาครั้งที่ 4 ซึ่งได้อภิปรายประโยชน์สำหรับมนุษย์จากอวัยวะของมนุษย์คนอื่น ขณะมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว
(2) ไม่อนุญาตให้ใช้กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อการค้าไม่ว่ากรณีใดๆ
(3) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมอบอำนาจในการดูแลการปลูกถ่ายอวัยวะไปยังคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและบุคคลที่น่าเชื่อถือ
.
6. ดูเหมือนว่า(อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง)สามารถใช้ประโยชน์จากเซลล์ที่พบในสายสะดือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสายสะดือถูกทิ้งแล้ว
สภานิติศาสตร์ขององค์การการประชุมอิสลาม(OIC)ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในระหว่างการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่(6 กุมภาพันธ์2531) ดังข้อความต่อไปนี้:
.
ประการแรก อนุญาตให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะจากตำแหน่งในร่างกายของบุคคลหนึ่งไปยังส่วนอื่นๆในร่างกายของบุคคลเดียวกัน โดยจะต้องแน่ใจว่าการปลูกถ่ายนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะเกิดโทษและภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนอวัยวะที่สูญเสียไปหรือปรับรูปที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนการทำงานหรือแก้ไขข้อบกพร่องหรือลบความผิดปกติที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจหรือทางร่างกาย
.
ชัยค์อิบรอฮีม อัลฟัยยูมีย์ เลขาธิการสภาวิจัยอิสลาม(The Islamic Research Council)ในอียิปต์กล่าวว่า สภาพบว่าการสร้างและการเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากมันในการบำบัดรักษาโรคของมนุษย์ซึ่งทำโดยการใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งไม่มีความผิดแต่ประการใดที่จะทำเช่นนั้น การสรุปนี้อ้างจากคำกล่าวของศาสตราจารย์ดร.อิบรอฮีม บัดรานสมาชิกของสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
.
ท่านได้กล่าวว่า สภาได้ให้ความสนใจต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆในสาขาวิทยาศาสตร์ที่สำคัญนี้และยอมรับว่าการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นการเปิดประตูสำหรับการรักษารูปแบบใหม่ๆซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตหรือผู้บริจาคเท่านั้นท่านกล่าวว่า อิสลามไม่ได้คัดค้านวิทยาศาสตร์ที่ประโยชน์แก่มนุษย์
.
และยังกล่าวต่อไปอีกว่า ไม่มีเหตุผลของทางชะรีอะฮ์ใดๆที่จะห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ตราบใดทีนำมาใช้เพื่อรักษามนุษย์
.
7. เราควรชี้ให้เห็นว่าไม่อนุญาตให้ใครก็ตามบริจาคสเปิร์ม(เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้)หรือไข่เพื่อผลิตไซโกต(zygotes-ไข่ที่ปฏิสนธิ)ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นทารกในครรภ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์ นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ใช้การโคลนนิ่ง(cloning)เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์จากทารกในครรภ์การอนุญาตจะจำกัดเฉพาะการได้รับสเต็มเซลล์จากสายสะดือเท่านั้น
.
แถลงการณ์โดยสภาอิสลามนิติบัญญัติอิสลาม หมายเลข54 (6/5) ว่าด้วยหัวข้อการปลูกถ่ายเซลล์สมองและเซลล์ประสาทมีข้อความดังต่อไปนี้
.
หัวข้อหนึ่งจากสภานิติบัญญัติอิสลามที่จัดขึ้นในระหว่างการประชุมครั้งที่หกที่กรุงเจดดาห์ประเทศสะอุดิอารเบีย 14-20 มีนาคมพ.ศ. 2533 หลังจากที่ได้มีการศึกษางานวิจัยและข้อเสนอแนะ หัวข้อนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมนิติศาสตร์ทางการแพทย์ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศคูเวต 23-26 ต.ค. 2533ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภานี้กับองค์การวิทยาศาสตร์การแพทย์อิสลาม ซึ่งในที่ประชุมได้นำข้อสรุปมาอ้าง
.
และทราบดีว่ากรณีนี้ไม่ได้หมายถึงการการย้ายสมองของคนคนหนึ่งไปให้คนอื่น แต่เป้าหมายของการปลูกถ่ายนี้คือการรักษาเซลล์ในสมองที่เสียหายซึ่งไม่สามารถขับสารเคมีหรือฮอร์โมนได้อย่างเพียงพอดังนั้นพวกเขาจึงได้รับการเสริมด้วยเซลล์ที่คล้ายกันจากแหล่งอื่นหรือปลูกถ่ายเพื่อรักษาช่องว่างในระบบประสาทที่เกิดจากการบาดเจ็บ สภาได้กำหนดกำหนดต่อไปนี้แนวทางดังนี้
.
ประการแรก หากที่มาของเนื้อเยื่อคือต่อมหมวกไต(adrenal gland)จากผู้ป่วยเอง และทำให้เกิดผลในทางบวกนั่นคือไม่มีการปฏิเสธจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเนื่องเซลล์มาจากร่างเดียวกัน จึงถือว่าไม่เป็นความผิดแต่ประการใดจากมุมมองของชะรีอะฮ์
.
ประการทีสอง หากแหล่งที่มาคือลูกในครรภ์ของสัตว์(fetus) ถือว่าไม่เป็นความผิดบาปในการใช้วิธีนี้หากว่ามันประสบผลสำเร็จและไม่มีข้อจำกัดจากชะรีอะฮ์แพทย์กล่าวว่าวิธีการนี้ประสบความสำเร็จในสัตว์ชนิดต่างๆและหวังว่าจะประสบความสำเร็จแต่ต้องมีมาตรการป้องกันทางการแพทย์ที่จำเป็นทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกัน
.
ประการที่สาม หากแหล่งที่มาของเนื้อเยื่อเป็นเซลล์ที่มีชีวิตจากสมองของตัวอ่อนแรกเริ่มซึ่งมีอายุในช่วงสิบถึงสิบเอ็ดสัปดาห์ กฏเกณฑ์จะแตกต่างกันออกไปตามหัวข้อต่อไปนี้:
.
(ก) วิธีแรก: นำเนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์มารดาโดยตรงโดยการผ่าตัดเปิดมดลูกวิธีนี้ส่งผลให้ทารกในครรภ์มารดาเสียชีวิตทันทีที่นำเอาเซลล์สมองออกมา วิธีการนี้เป็นสิ่งที่หะรอม(ต้องห้าม) เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการแท้งบุตร หรือการทำแท้งที่ชะรอะฮ์อนุมัติเพื่อช่วยชีวิตมารดาและหลังจากที่ได้ตรวจสอบว่าทารกในครรภ์เสียชีวิต ในขณะเดียวกันจะต้องให้ความสำคัญกับเงื่อนไขที่จะนำมากล่าวถึงในหัวข้อของการใช้ตัวอ่อนในคำแถลงหมายเลข 59 (6/8) ของการประชุมรอบนี้
.
(ข) วิธีที่สอง เป็นวิธีการที่อาจจะนำมาใช้ในอนาคตเร็วๆนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปลูกเซลล์สมองในฟาร์ม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ วิธีการนี้ไม่มีความผิดใดๆจากมุมมองของชะรีอะฮ์ หากที่มาของเซลล์เป็นสิ่งได้รับการอนุมัติ และปฏิบัติในลักษณะที่สอดคล้องกับสิ่งที่อิสลามอนุญาต
.
8. ทุกประเทศจะต้องร่วมกันต่อต้านการทำแท้งทารกในครรภ์เพื่อให้ได้อวัยวะและเซลล์ของเหล่านี้ และไม่อนุญาตให้รับเอาผลประโยชน์จากสิ่งที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งธนาคารเซลล์องค์กรที่มีความน่าเชื่อถือควรเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้และควรเก็บรวบรวมเซลล์เหล่านี้ด้วยรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับของหลักการอิสลามเพื่อให้สามารถรักษาผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์
.
9. หลังจากเขียนข้อความข้างต้นแล้ว เราได้ตรวจสอบคำแถลงของสภานิติบัญญัติอิสลามซึ่งเชื่อมโยงกับสันนิบาติมุสลิมโลก(Muslim World League -MWL)ว่าด้วยสเต็มเซลล์ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราระบุไว้ข้างต้นเราจะบันทึกไว้ที่นี่เพื่อสรุปสิ่งที่ระบุไว้ข้างต้น และให้ความสำคัญก่อนคำแถลงอื่น ๆ เนื่องจากเป็นความเห็นของนักวิชาการที่มีคุณธรรมที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และชะรีอะฮ์
.
คำแถลงของสภานิติบัญญัติอิสลามมีดังนี้
สภานิติบัญญัติแห่งสันนิบาตมุสลิมโลก(Council of the Muslim World League) ในการประชุมครั้งที่ 7 ที่เมืองมักกะฮ์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้อภิปรายในหัวข้อการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ กล่าวถึงหัวข้อการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ว่าด้วยแหล่งที่มาพื้นฐานของเซลล์ สอดคล้อกับข้อเสนอแนขององค์กรในการประชุมครั้งที่หกในปี 2532 ตามที่ได้นำมาอ้างข้างต้น ในแถลงการณ์ที่สามของสภานิติบัญญัติอิสลาม ฉบับลงวันที่ 17/12/2546 กล่าวไว้ดังนี้
.
สเต็มเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์ทีมีต้นกำเนิดจากตัวอ่อนโดยถูกสร้างขึ้น สามารถที่จะ(ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์)พัฒนาเป็นเซลล์ต่างๆในร่างกายของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเกี่ยวกับเซลล์เหล่านี้และแยกพวกมันออกและทำให้มันเติบโตขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ดังนั้นพวกเขาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรค และพวกเขาคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตในการรักษาโรคต่างๆรวมทั้งความผิดปกติของร่างกาย ตลอดจนโรคมะเร็งบางชนิด โรคเบาหวาน โรคไตและตับวายเป็นต้น
.
สเต็มเซลล์เหล่านี้สามารถนำมาจากหลายๆแหล่ง รวมทั้งที่จะกล่าวต่อไปนี้ :
(1) ตัวอ่อนในระยะบลาสทูบา( blastula )ซึ่งเซลล์จะจัดเรียงตัวเป็นรูปทรงกลม เซลล์ต่างๆของร่างกายจะเติบโตตรงนี้ ไซโกต(ไข่ที่ปฏิสนธิ)ที่เกิดขึ้ด้วยการทำให้มีการปฏิสนธิในหลอดทดลองถือได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญของสเต็มเซลล์ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิจากผู้บริจาคเพื่อให้ได้ไซโกตและสร้างการเจริญเติบโตจนกว่าเซลล์จะพัฒนามาถึงระยะบลาสทูลา แล้วแยกสเต็มเซลล์ออกมา
(2) ทารกที่เกิดจากการแท้ง
(3) รกหรือสะดือ (The placenta or umbilical cord)
(4) เด็กหรือผู้ใหญ่
(5) การโคลนนิ่งซึ่งทำได้ด้วยการนำเอาเซลล์มาจากผู้ใหญ่แล้วดึงนิวเคลียสของมันออกจากนั้นใส่เข้าไปในไข่ที่นิวเคลียสของมันถูกกำจัดออก โดยมีจุดมุ่งหมายให้เข้าถึงระยะบลาสทูลา(the blastula stage) จากนั้นจึงจะดึงสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนที่อยู่ในระยะนี้
.
หลังจากรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อนี้ตลอดจนความคิดเห็นของสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเซลล์ชนิดนี้และแหล่งที่มาของมันรวมถึงวิธีการใช้งานดังกล่าวสภาได้ลงความเห็นดังต่อไปนี้
.
ประการแรก: อนุญาตให้รับสเต็มเซลล์และปลูกถ่าย ตลอดจนใช้เพื่อรักษาทางการแพทย์หรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่หะลาลหากแหล่งที่มาของสเต็มเซลล์นั้นหะลาล ดังตัวอย่างต่อไปนี้
.
(ก) ผู้ใหญ่ หากได้รับอนุญาตและจะต้องไม่นำไปสู่อันตราย
(ข) เด็ก โดยผู้ปกครองของพวกเขาต้องให้การยินยอม ซึ่งทำไปโดยมีจุดประสงค์ที่หลักการอิสลามอนุญาต และจะต้องไม่เป็นอันตรายแก่พวกเขา
(ค) รกและสายสะดือ โดยได้รับการยินยอมจากพ่อแม่
(ง) ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (เช่นการแท้งบุตร) หรือทารกในครรภ์ที่เกิดจากการทำแท้งซึ่งดำเนินการโดยเหตุผลทางการแพทย์ที่ชะรีอะฮ์ให้การอนุญาต ตลอดจนการอนุญาตจากพ่อแม่
(จ) ไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิ (zygotes) จากความพยายามให้มีการปฏิสนธิในหลอดทดลองหากได้รับบริจาคจากพ่อแม่ และมีข้อสังเกตว่าไม่อนุญาตให้ใช้วิธีการนี้เพื่อการการตั้งครรภ์หากพ่อกับแม่ไม่ได้สมรสกัน
.
ประการที่สอง : ไม่อนุญาตให้นำสเต็มเซลล์มาใช้หากแหล่งที่มาของมันนั้นหะรอม ตัวอย่างเช่น:
(1) ทารกในครรภ์ที่มีการทำแท้งโดยเจตนาโดยที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ใด ๆ ที่จะทำให้ได้รับอนุญาตตามหลักการชะรีอะฮ์
(2) ไซโกต(Zygotes) ที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิจากผู้บริจาคซึ่งมิได้เป็นสามีภรรยากัน
(3) การโคลนนิ่ง (Cloning)
.
อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง
.
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้