34 จำนวนผู้เข้าชม |
การท่องเที่ยวระดับโลกกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง และความใส่ใจต่อความยั่งยืน ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ตลาดการท่องเที่ยวมุสลิมยังคงเติบโตและมีความสำคัญ ทำให้เกิดความต้องการกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการเฉพาะเหล่านี้ ซึ่งทาง CrescentRating จึงได้พัฒนากรอบแนวคิด RIDA ขึ้น เพื่อตอบสนองความท้าทายในการผสานแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ วัฒนธรรม กับเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคต
กรอบแนวคิด RIDA ได้แรงบันดาลใจมาจากภาษาอาหรับ (رضا) ซึ่งหมายถึงความพึงพอใจและความสุข ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่นักเดินทางต้องการระหว่างการเดินทาง ดังนั้น กรอบแนวคิด RIDA ย่อมาจากคำสี่คำ คือ Responsible, Immersive, Digital, และ Assured (รับผิดชอบ ดื่มด่ำ ดิจิทัล และเชื่อมั่น) ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวมุสลิม ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านศรัทธาและความเชื่อเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและบริการเฉพาะบุคคล กรอบนี้จึงเป็นเครื่องมือสำหรับจุดหมายปลายทางและผู้ให้บริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพและเข้าถึงนักท่องเที่ยวมุสลิมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิติหลักของกรอบ RIDA ประกอบด้วย 4 มิติ ดังนี้
1. #มิติของความรับผิดชอบ (Responsible Dimension)
1.1 ความรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจสังคม (Socio-Economics)
ส่งเสริมการใช้จ่ายในธุรกิจและกิจกรรมของท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการค้าที่เป็นธรรมและการบริโภคที่มีจริยธรรม การสนับสนุนบริษัทที่รักษาคุณภาพชีวิตแรงงานช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และการให้บริการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้ จะช่วยให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม
1.2 ความรับผิดชอบด้านสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural)
มุ่งเน้นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และการเคารพขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน และสร้างความตระหนักในเรื่องธรรมเนียมทางศาสนา การท่องเที่ยวแบบนี้ยังส่งเสริมการครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้เดินทาง
1.3 ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)
ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลักศรัทธา ซึ่งเน้นถึงความเมตตาต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มุ่งลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อคนรุ่นหลัง
2. มิติของการดื่มด่ำ (Immersive Dimension)
2.1 การดื่มด่ำในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม (Cultural Engagement)
ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกิจกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์ เช่น การเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมหรือการทำอาหารจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น ทัวร์ที่นำโดยไกด์ท้องถิ่นช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถานที่ต่าง ๆ
2.2 การดื่มด่ำทางด้านอนุรักษ์มรดก (Heritage Preservation)
เน้นการอนุรักษ์และส่งเสริมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้คนเข้าใจถึงคุณค่าของสถานที่เหล่านี้ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ช่วยปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมในระยะยาว
2.3 การดื่มด่ำกับการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน (Community Interaction)
พัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น เช่น ทัวร์ชุมชนหรือการเข้าพักในโฮมสเตย์ ซึ่งช่วยให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตท้องถิ่นอย่างแท้จริง กิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยสร้างรายได้และสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น
3. มิติทางด้านดิจิทัล (Digital Dimension)
3.1 การผสานทางเทคโนโลยี (Technological Integration)
ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI และ VR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง และนำเสนอแผนการเดินทางเฉพาะแบบส่วนตัว รวมถึงทัวร์เสมือนจริงก่อนการเยี่ยมชมด้วยเทคโนโลยี VR ที่จะช่วยยกระดับการเข้าถึงและคุณภาพของบริการเให้สอดคล้องกับความต้องของนักท่องเที่ยวยุคใหม่
3.2 การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusivity)
มุ่งเน้นการออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นมิตรกับทุกคน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เข้าถึงได้ง่าย
3.3 ประสิทธิภาพทางด้านดิจิทัล (Efficiency)
เทคโนโลยีช่วยลดขั้นตอนการเดินทาง เช่น เช็คอินผ่านมือถือและการใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อความสะดวกและความคล่องตัว
4. มิติความเชื่อมั่น (Assured Dimension)
4.1 ความเชื่อมั่นการประกันคุณภาพ (Quality Assurance)
เน้นการรักษามาตรฐานสูงสุดในการให้บริการ ด้วยการฝึกอบรมพนักงานและรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการตรงตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยวมุสลิม
4.2 ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงและปลอดภัย (Safety and Security)
ใช้มาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งทางกายภาพและดิจิทัล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าข้อมูลและความปลอดภัยส่วนบุคคลจะได้รับการปกป้อง
4.3 ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance)
ส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรฐานและการรับรองที่สอดคล้องกับหลักฮาลาล เพื่อให้มั่นใจว่าบริการต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และกิจกรรมต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม
กรอบแนวคิด RIDA จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้จุดหมายปลายทางและผู้ให้บริการเติบโตไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ควบคู่กับการเคารพในหลักการทางศาสนาและวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวมุสลิมอีกด้วย
.........................
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ แปลและเรียบเรียง
........................
บทความจาก
The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024. เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2567 จาก https://www.crescentrating.com/.../global-muslim-travel...