263 จำนวนผู้เข้าชม |
เราได้พูดคุยกับ Dr.Meltem Yalinay เกี่ยวกับงานวิจัยของเธอว่าด้วยการอดอาหารส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ของเราอย่างไร
.
“การถือศีลอดแบบอิสลามเป็นแบบอย่างที่ดีมากสำหรับความสมบูรณ์ของจุลินทรีย์ในลำไส้และสุขภาพของลำไส้” Dr. Meltem บอกกับเรา
.
Dr. Meltem Yalinay เป็นศาสตราจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยาของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฆอซี (Gazi University) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอังการา
.
“เราได้ออกแบบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดของอิสลาม โดยก่อนช่วงรอมฎอนเราได้เก็บเอาตัวอย่างอุจจาระของแต่ละคน และหลังจากนั้นในตอนท้ายของช่วงเวลาของการอดอาหารแบบอิสลามนี้เราก็ได้นำตัวอย่างอุจจาระไปตรวจอีกครั้ง ตรวจทั้งก่อนและหลัง สำหรับระดับคลอเลสเตอรอลทั้งหมดและระดับน้ำตาลในเลือดผลตรวจออกมาในแนวทางที่ดีมากในช่วงเวลานี้ แต่เมื่อเรามาถึงการตรวจตัวอย่างจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiota) จริง ๆ แล้วผลการตรวจเหล่านี้ออกมาน่าสนใจมาก” Dr. Meltem กล่าว
.
Gut flora หรือ Gut microbiota คือจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ซับซ้อนของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในเมตาบอลิซึมและมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของเรา มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย โดยช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ช่วยสร้างวิตามิน ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยปกป้องร่างกายจากการบุกรุกโดยเชื้อโรคภายนอก
.
Dr. Meltem อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “เราพบว่าชนิดของแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องเป็นแบคทีเรียชนิดที่ดีสำหรับจุลินทรีย์ในลำไส้ และแบคทีเรียชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารของลำไส้เราพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทางที่เหมาะสมต่อจุลินทรีย์ในลำไส้มากในช่วงเวลาเช่นนี้”
.
“ดิฉันคิดว่าเราต้องกลับมาคิดถึงจำนวนช่วงเวลาในการรับประทานอาหาร ดังนั้นความหิวจึงเป็นตัวแปรที่ดีมากสำหรับเรา อาหารหลักสามมื้อนี้ไม่เหมาะกับผู้ใหญ่มากนัก จริง ๆ แล้วอาหารมื้อหลักสองมื้ออาจจะเหมาะสมกว่า ผลลัพธ์จากการวิจัยนี้แสดงให้เห็นผลเช่นนี้จริง ๆ” เธอกล่าวปิดท้าย
.
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก TRT World โดย Dr. Meltem Yalinay